อาหารเจ vs. มังสวิรัติ vs. Vegan ต่างกันอย่างไร เข้าใจใน 10 นาที!

Last updated: 2 มี.ค. 2567  |  171601 จำนวนผู้เข้าชม  | 

vegetarian อาหารเจ มังสวิรัติ วีแกน ต่างกันยังไง

               อาหารเจ vs. มังสวิรัติ vs. Vegan ต่างกันอย่างไร?

 

          ปัจจุบัน เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพในไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลหลักด้านสุขภาพ    คนไทยจึงหันมางดการทานเนื้อสัตว์ และเพิ่มปริมาณผักหรือผลไม้เข้าไปในจานอาหารแต่ละมื้อ ซึ่งหมายความว่า กลุ่มคนที่ทานมังสวิรัติ วีแกน และอาหารเจนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

อ้างอิงจากการประมาณการของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ว่า เปอร์เซ็นต์คนไม่ทานเนื้อ ในปี 2562 จากเดิม 8% จะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ภายในปี 2568!  สอดคล้องกับ Lifestyle การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังเหตุการณ์ Covid-19 ทำให้ผู้คนทุกวัยเริ่มกักตัวและใส่ใจการดูแลสุขภาพของตนเอง 

 

          แน่นอนว่าต้องตามมาด้วยคำถามที่ว่า อาหารเจ vs. มังสวิรัติ vs. Vegan ต่างกันยังไง? แล้วตัวเราล่ะควรเลือกทานแบบไหนดี? ทั้งนี้ทั้งนั้น การบริโภคทั้ง 3 แบบ ล้วนมีหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การไม่เบียดเบียนสัตว์ และจะมีเหตุผลในการเริ่มทานที่ลดหลั่นลงมา เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ศาสนา ซึ่งวันนี้ทาง lumlum ได้รวบรวมข้อสังเกตและความแตกต่างทั้งหมดไว้ให้คุณแล้ว

 

Highlight

  • มังสวิรัติ คืออะไร
  • มังสวิรัติมีกี่ประเภท
  • วีแกน คืออะไร และควรเริ่มทานวีแกนอย่างไร 
  • อาหารเจ ต่างจากวีแกนหรือมังสวิรัติอย่างไร
  • สรุป ความต่างของ อาหารเจ vs. มังสวิรัติ vs. วีแกน   

มังสวิรัติ คือ 

          มังสวิรัติ (Vegetarian) คือ การทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบและเน้นสารอาหารจากพืช ใบบางรายอาจมีการทานเนื้อสัตว์เล็ก นม หรือไข่ร่วมด้วย ตามความสะดวกและเหตุผลในการดำรงชีวิตของแต่ละบุคคล 

 

มังสวิรัติมีกี่ประเภท ?

          โดยทั่วไปแล้วชาวมังสวิรัติจะมีทั้งฝั่งที่เคร่งครัดในการงดเนื้อ และฝั่งที่สามารถทานนม ไข่และเนื้อสัตว์บางประเภทได้ ซึ่งหากแบ่งตามพฤติกรรมการทานอาหาร สามารถแยกย่อยออกมาได้ถึง 7 กลุ่ม ที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ดังนี้

 

ประเภทของมังสวิรัติ type of vegetarianism

 

  • กลุ่มที่ 1 มังสวิรัตินมและไข่ (Lacto-ovo vegetarian)
    เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ สามารถทานทั้งนมและไข่ได้ แต่งดเนื้อสัตว์ทุกประเภท
  • กลุ่มที่ 2 มังสวิรัตินม (Lacto vegetarian)
    กลุ่มนี้สามารถทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมได้ เช่น นม ชีส โยเกิร์ต เนย แต่งดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากไข่ทุกประเภท
  • กลุ่มที่ 3 มังสวิรัติไข่ (Ovo vegetarian) 
    กลุ่มนี้สามารถทานไข่ได้ แต่งดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมทุกประเภท 
  • กลุ่มที่ 4 มังสวิรัติปลา (Pescatarian) 
    กลุ่มนี้สามารถทานปลาและหอยได้ ในบางรายอาจทานนมหรือไข่เสริมด้วยก็ได้ แต่ไม่ทานเนื้อสัตว์อื่นๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว
  • กลุ่มที่ 5 กึ่งมังสวิรัติ (Pollotarian) 
    กลุ่มนี้สามารถทานปลา ไก่ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมทุกประเภท แต่งดเนื้อสัตว์ใหญ่หรือเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว
  • กลุ่มที่ 6 วีแกน (Vegan) หรือ มังสวิรัติบริสุทธิ์ 
    กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เคร่งในการเป็นมังสวิรัติที่สุด ไม่เพียงแค่รับประทานอาหารจากพืชเท่านั้น แต่ยังงดใช้เครื่องอุปโภคที่ทำมาจากสัตว์ และไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เบียดเบียนสัตว์ทุกประเภท สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ ควรเริ่มทานวีแกนอย่างไร? ในหัวข้อต่อไป
  • กลุ่มที่ 7 มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) 
    กลุ่มนี้เป็นคนที่ทานมังสวิรัติอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเริ่มทาน แต่ไม่สามารถเลิกทานอาหารแบบปกติได้ และไม่อยากเครียดในการทานมังฯ หากจะพูดให้เห็นภาพชัดเจน คือ กลุ่มนี้ยังทานเนื้อสัตว์เล็กอยู่ เพียงแค่ทานในปริมาณที่น้อยลง ร่วมกับการลดปริมาณน้ำตาลในมื้ออาหาร                                   
    และจำกัดของหวาน เน้นทานอาหารจากพืชเช่นเดียวกับมังสวิรัติกลุ่มอื่นๆ หากร่างกายเริ่มชินและต้องการขยับเลเวลไปทานมังสวิรัติที่เคร่งขึ้นแบบกลุ่มอื่นก็สามารถทำได้

วีแกนคืออะไร และควรเริ่มทานอย่างไร?

                                how to go vegan เริ่มทานมังสวิรัติ

 

การเริ่มเป็น วีแกน (Vegan) หรือ มังสวิรัติบริสุทธิ์ ที่เคร่งในการงดเนื้อ งดใช้เครื่องอุปโภคที่ทำมาจากสัตว์ รวมทั้งไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เบียดเบียนสัตว์ทุกประเภท มีขั้นตอนการปฏิบัติตน 10 ข้อ ได้แก่

  • บริโภคอาหารจากพืชเท่านั้น เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช อาหารที่แปรรูปหรืออาหารที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด  
  • ได้รับโปรตีนทดแทนจากถั่ว หมี่กึง โปรตีนเกษตร 
  • สามารถเติมเต็มสัมผัสการกินเนื้อด้วยเนื้อทดแทน (Plant-based meat)
  • สามารถดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ได้ เพราะไม่มีหลักธรรมศีล 5 เข้ามาเกี่ยวข้อง
  • สามารถทานอาหารหรือของหวานที่ทำจากผงวุ้น (Agar-Agar) หรือ เพคติน (Pectin) ได้ แต่ไม่สามารถทานอาหารที่ทำจากเจลาตินทั่วไปได้
  • ไม่ทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสัตว์ เช่น น้ำผึ้ง เจลาติน   
  • งดใช้เครื่องสำอางที่มีการทดลองกับสัตว์ (Cruelty-Free)
  • งดใช้เครื่องอุปโภคที่ทำจากสัตว์ เช่น เสื้อผ้าขนสัตว์ รองเท้าหนัง
  • ไม่สักผิวหนัง เพราะน้ำหมึกที่ใช้สักมีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ (glycerin)
  • ไม่ไปเที่ยวสวนสัตว์ เพราะจัดเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการเบียดเบียนสัตว์

อาหารเจ ต่างจากวีแกนหรือมังสวิรัติอย่างไร? 

          อาหารเจ คือ อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพืชเป็นหลัก เช่นเดียวกับอาหารมังสวิรัติและวีแกน แต่จะมีความพิเศษเพิ่มเข้ามาอีกสองข้อ คือ การงดทานผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ร่วมกับการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 ตลอดระยะเวลา 9-10 วันของทุกปี 

 

          ผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด ที่ควรระวังในช่วงเทศกาลกินเจ
          1. กระเทียม  
          2. หัวหอม  
          3. หลักเกียว (หอมปรัง ลักษณะคล้ายกระเทียมและต้นหอมแต่มีขนาดเล็กกว่า)  
          4. กุยช่าย 
          5. ใบยาสูบ หมายถึง ห้ามสูบบุหรี่ 

หมายเหตุ: ในบางรายอาจงดทานผักชีร่วมด้วย เนื่องจากเป็นผักที่มีกลิ่นฉุน แม้จะไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผักฉุนก็ตาม

 

สรุป ความต่างของ อาหารเจ vs. มังสวิรัติ vs. วีแกน

มังสวิรัติ : ส่วนมากจะงดเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่มังสวิรัติบางกลุ่มยังมีการทานไข่ นม และเนื้อสัตว์เล็กหรือปลาอยู่ ขึ้นกับว่าจะเป็นมังฯ กลุ่มไหน เหมาะกับคนรักสุขภาพ ต้องการงดเนื้อ แต่ไม่อยากเปลี่ยนการใช้ชีวิต
วีแกน : งดเนื้อ งดของใช้ที่ทดลองกับสัตว์หรือทำมาจากสัตว์ทุกประเภท จึงเหมาะกับคนรักสุขภาพและต้องการเปลี่ยนการใช้ชีวิต
อาหารเจ : งดเนื้อ งดผักฉุน ถือศีล 5 เหมาะกับคนที่คำนึงถึงเรื่องศาสนาและความเชื่อมาก่อน ต้องการงดเนื้อ และทำเพียงระยะเวลาสั้นๆ 


เห็นความแตกต่างแบบนี้แล้ว คิดว่าตัวเองเหมาะกับการทานแบบไหนบ้างคะ? หากตัดสินใจได้แล้ว แต่ยังขาดวัตถุดิบหรือตัวช่วยในการทำอาหารสุขภาพ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจาก lumlum สำหรับชาววีแกน พร้อมช่วยให้คุณสนุกกับการทานอาหารสุขภาพทุกเมื่อ

*สินค้าทุกรายการจาก lumlum เป็นสินค้า Vegan ยกเว้นบะหมี่ออร์แกนิคที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ*

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
www.bangkokbanksme.com 
www.fas.usda.gov
www.halalscience-pn.org 
www.healthline.com/nutrition
www.ifrj.upm.edu.my 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้